โรคซึมเศร้า
ภาวะโรคซึมเศร้า ถ้าใครที่ไม่เคยเจอกับตัวเองก็คงไม่เข้าใจ โรคซึมเศร้า อาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยแต่ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนในช่วงอายุ 20-30 ปี โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ป่วยอาจรู้สึกได้ถึงความสิ้นหวัง เสียใจ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าให้มากขึ้น ภัยเงียบ! ที่อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ ถ้าไม่รีบรักษา ระวังจะสายเกินแก้
สาเหตุการเกิดโรคซึมเศร้า มีอะไรบ้าง
- โรคซึมเศร้า อาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม สมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งเคยเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะโรคซึมเศร้า ลักษณะเป็นคนอ่อนไหวง่าย คิดมากจนเกินไป มองโลกในแง่ลบ ตลอดจนการมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล
- สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กจนโต อาจได้รับอิทธิพลจากคนใกล้ชิดหรือคนรอบข้าง เช่น คนในครอบครัวใช้ความรุนแรง อย่างที่ใครหลายๆ คนมักพูดกันว่า มีปม อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าบางครั้งเหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิตประจำวันที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง ก็สามารถทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน
- โรคซึมเศร้า อาจเกิดขึ้นจากอาการป่วยด้วยโรคบางชนิด แล้วใช้ยารักษาโรค ผลตามมาด้วยอาการภาวะแทรกซ้อนหรือเป็นผลข้างเคียงในลักษณะอาการซึมเศร้า
อาการของโรคซึมเศร้า เป็นอย่างไร
หากคุณสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ หรือคนรอบข้างเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้
- เกิดความรู้สึกเบื่อ หมดความสนใจหรือไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ
- มีอารมณ์ซึมเศร้า หากเป็นช่วงอายุเด็กหรือวัยรุ่น จะรู้สึกโกรธง่าย หงุดหงิดง่าย
- นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับมาก
- เหนื่อยล้าง่าย ไม่ค่อยมีแรง
- รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า คิดลบกับตัวเอง
- ทานอาหารมากเกินไปหรือเบื่ออาหาร
- รู้สึกลังเลใจ ไม่ค่อยมีสมาธิ
- มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง ไม่อยากมีชีวิตอยู่
- พูดช้า ทำอะไรช้า หรือมีอาการกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง
ถ้าอยากรู้ว่าตัวเองหรือคนรอบข้างป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ให้ลองสังเกตอาการดังกล่าว หากมีอาการอย่างน้อย 5 อย่างติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันและพบว่ามีอาการเหล่านี้เกือบตลอดทั้งวัน ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า เป็นแล้วสามารถหายได้ไหม
โรคซึมเศร้า จริงๆ แล้วสามารถรักษาให้หายได้ ด้วยวิธีการรักษาทางจิตใจและการรักษาด้วยยาหลายชนิด ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนอาจตอบสนองต่อการรักษาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ผู้ป่วยบางคนอาจต้องรักษาด้วยวิธีการหลายอย่าง การรับประทานยาจะช่วยให้อาการโรคซึมเศร้าดีขึ้นเร็ว แต่การรักษาทางจิตใจนั้นจะช่วยให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น สามารถรับมือกับปัญหาหรือต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ดีกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วการรักษาโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล
โรคซึมเศร้า แตกต่างจากความเศร้าปกติอย่างไร
โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าหรือภาวะซึมเศร้า (Depression) เกิดจากการคาดการณ์อนาคตล่วงหน้าหรือคิดไปเอง และหากเกิดเหตุการณ์สูญเสียขึ้นจริง ก็มักจะมีอาการเศร้ามากหรือจมดิ่ง อยู่กับความเศร้าโศกเสียใจเป็นเวลานาน ไม่ดีขึ้นแม้ว่าจะได้รับกำลังใจจากคนรัก ครอบครัว หรือคนรอบข้างก็ตาม คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะรู้สึกว่าตนเองนั้นไม่มีคุณค่าหรือด้อยค่า รู้สึกผิด อยากทำร้ายตนเอง ไม่อยากมีชีวิตอยู่ อยากตาย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หน้าที่การงาน รวมไปถึงการเข้าสังคมด้วย ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรงมักจะมีอาการทางกายด้วย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อยากอาหารมาก น้ำหนักลด น้ำหนักเพิ่ม เป็นต้น
ความเศร้าปกติ
ความเศร้าปกติ (Normal Sadness) คือ อารมณ์ด้านลบ ในทางจิตวิทยาถือว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นบางครั้งคราว สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทั่วไป ที่ต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสีย ผิดหวัง ท้อแท้ หรือรู้สึกอึดอัดทรมาน
การดูแลรักษาอาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า
การรักษาโรคซึมเศร้า คือ การให้คำปรึกษา รับฟัง พูดคุย เป็นการทำจิตบำบัด รวมถึงการใช้ยาในกลุ่มโรคซึมเศร้าในกรณีที่มีความจำเป็น โรคซึมเศร้า อย่างที่บอกว่าสามารถรักษาได้ ยิ่งเข้ารับการรักษาได้เร็วเท่าไหร่ ผู้ป่วยก็จะยิ่งมีโอกาสหายได้เร็วขึ้นมากเท่านั้น แต่หากปล่อยไว้นาน การรักษาก็จะยากมากขึ้น
หลายคนอาจสงสัยว่าการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยานั้น มีผลข้างเคียงหรือไม่ ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า ถือได้ว่ามีความปลอดภัย ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง ซึ่งผู้ป่วยบางราย อาจกลัวว่าจะเกิดผลข้างเคียง จนไม่กล้ารับประทานยารักษาโรคซึมเศร้าหรือไม่ทานยาตามที่แพทย์สั่งจนครบ เพราะเข้าใจว่ายารักษาโรคซึมเศร้าจะทำให้เกิดอาการมึนงง จริงๆ แล้วไม่ได้มีผลข้างเคียงหรือทำให้เกิดอาการมึนงงอย่างที่คิดเลย และวิธีการป้องกันโรคซึมเศร้า แพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ นั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ และการฝึกคิดบวกมองโลกในแง่ดี
ข้อควรระวังกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
หากคนใกล้ชิดหรือคนรอบข้างป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ต้องทำความเข้าใจและไม่ควรตีตัวออกห่าง เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า น่ารำคาญ ควรรับฟังพวกเขา ในกรณีที่ผู้ป่วยเศร้าใจ สิ้นหวัง อยากฆ่าตัวตาย อย่าละเลยหรือแกล้งทำ
เป็นไม่ได้ยิน และไม่ควรไปกดดันหรือเร่งรัดผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า เช่น ใช้คำพูดที่ว่า เมื่อไหร่จะหาย ผู้ป่วยจะยิ่งรู้สึกกดดันมากขึ้นและไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
เห็นไหมว่า โรคซึมเศร้า กลายเป็นภัยเงียบที่มีความรุนแรงหรืออาจเป็นอันตรายมากกว่าที่คุณคิด สังคมทุกวันนี้ เรามักจะเคยเห็นข่าว ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคิดสั้น ฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายผู้อื่น แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ยิ่งเข้ารับการรักษาเร็วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสหายเร็วมากเท่านั้น
– – – – – – –
ช่องทางติดต่อทั้งหมด : https://rakmor.com/contact-us/
โทรติดต่อ : 062-696-8628
Line@ : @Rakmor
FB : https://www.facebook.com/Rakmormedical