มาทำความรู้จัก โรคข้อเข่าเสื่อม ภัยเงียบในวัยชรา รีบรักษาก่อนจะสายเกินไป

มาทำความรู้จัก โรคข้อเข่าเสื่อม ภัยเงียบในวัยชรา รีบรักษาก่อนจะสายเกินไป

โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม ถือเป็นโรคที่สามารถพบเห็นได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากร่างกายและข้อต่อต่างๆ เริ่มเสื่อมสภาพลงตามกาลเวลา ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าวัยอื่นๆ และจากสถิติยังพบอีกว่าเพศหญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเพศชาย เนื่องจากปัจจัยทางด้านฮอร์โมนและระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย นอกจากนี้ในคนที่มีอายุน้อยก็สามารถเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน จากพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าว่าจะเป็นการใช้งานเข่าผิดท่า การไม่ค่อยออกกำลังกายหรือการมีน้ำหนักตัวมาก ซึ่งหากปล่อยเอาไว้นานโดยไม่รีบรักษา ก็จะทำให้มีอาการปวดที่รุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้

มาทำความรู้จัก โรคข้อเข่าเสื่อม ภัยเงียบในวัยชรา รีบรักษาก่อนจะสายเกินไป

โรคข้อเข่าเสื่อม คืออะไร

โรคข้อเข่าเสื่อม คือ ภาวะที่กระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าสึกหรอและเสื่อมสภาพลง ตามการเสื่อมสภาพของร่างกายเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น หรือเกิดจากการเป็นโรคที่เกี่ยวกับข้อเข่า และการได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดบริเวณข้อเข่าขณะเคลื่อนไหวได้ ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น ทั้งในการเดิน ขยับตัว ลุก – นั่ง หรือขณะเดินขึ้นบันได โดยเมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้ ทำได้แค่การบรรเทาอาการเจ็บปวด และป้องกันการโก่งงอหรือผิดรูปของข้อเข่า

สาเหตุที่ทำให้เกิด โรคข้อเข่าเสื่อม

1.การเสื่อมสภาพตามวัย

เมื่อคนเรามีอายุเพิ่มมากขึ้น ร่างกายก็จะค่อยๆ เสื่อมสภาพลงตามกาลเวลา ทำให้เมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ ก็มักจะมีโอกาสเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมกันได้เป็นเรื่องปกติ

2.การมีน้ำหนักตัวที่มาก

ข้อเข่าถือเป็นบริเวณข้อต่อสำคัญที่ต้องรองรับน้ำหนักตัวของร่างกาย ซึ่งหากร่างกายมีน้ำหนักตัวมาก หรือมีไขมันแทรกตามส่วนต่างๆ เยอะ ก็จะทำให้ข้อเข่าต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นไปอีก ส่งผลให้ในระยะยาวข้อเข่าจะเกิดการเสื่อมได้ง่ายขึ้น

3.การใช้งานข้อเข่าเป็นเวลานาน

พฤติกรรมหรือท่าทางหลายอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ หรือการขึ้นลงบันได ซึ่งหากทำท่าทางเหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานานและทำเป็นประจำ ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ในอนาคต

4.ข้อเข่าได้รับบาดเจ็บ

ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่ามาก่อน เช่น กระดูกข้อเข่าแตก ข้อเข่าเคลื่อนหลุด หรือเส้นเอ็นฉีกขาด ทำให้บริเวณข้อเข่ามีความเปราะบางและไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ซึ่งจะมีโอกาสเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

5.โรคไขข้ออักเสบ

การเป็นโรคไขข้ออักเสบ หรือโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับข้อเข่า เช่น โรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มโรคที่ทำลายกระดูดอ่อนบริเวณข้อเข่า ส่งผลทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายหากไม่ระมัดระวัง

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นอย่างไร

1.ปวดเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหว เช่น ปวดขณะเดิน ลุกนั่ง ขึ้นลงบันได เป็นต้น

2.ข้อบวม โดยเฉพาะบริเวณข้อต่อหรือข้อเข่า เนื่องจากภายในข้อเข่าเกิดการอักเสบ

3.ข้อเข่าโก่ง หรือผิดรูป ซึ่งจะมีอาการปวดเมื่อขยับ ทำให้เดินหรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก

4.ข้อเข่าฝืด หรือข้อเข่ายึด เกิดจากการที่ข้อเสื่อมมานาน ทำให้ไม่สามารถงอหรือเหยียดข้อเข่าได้สุด

5.มีเสียงในข้อเข่า เมื่อขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายจะมีเสียงดังในข้อเข่า เนื่องจากเกิดการเสียดสีภายในข้อเข่า

วิธีรักษาทางการแพทย์ทำอย่างไร

1.การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต

ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมในระยะแรก ที่ยังมีอาการไม่หนัก การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่า การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน รวมถึงการทำกายภาพบำบัด จะเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น

📄 คลิกดูข้อมูลอุปกรณ์ช่วยเดินแบบต่าง ๆ

2.การรักษาโดยใช้ยา

แต่หากทำการปรับรูปแบบการใช้ชีวิตแล้ว อาการปวดยังไม่ดีขึ้น ก็จำเป็นจะต้องมีการใช้ยาเข้ามาช่วยในการรรักษาด้วย ทั้งการทานยาและการฉีดยา ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ ยาสเตียรอยด์ และการฉีดยาหรือน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า ซึ่งจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

3.การรักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาด้วยการผ่าตัด สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หรือการผ่าตัดแก้ความโก่งงอของเข่า ซึ่งการผ่าตัดจะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ดี สำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล

มาทำความรู้จัก โรคข้อเข่าเสื่อม ภัยเงียบในวัยชรา รีบรักษาก่อนจะสายเกินไป

วิธีถนอมให้โรคข้อเข่าเสื่อมบรรเทาลง

  • หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ นั่งคุกเข่า หรือนั่งไขว้ขาเป็นเวลานานๆ
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักๆ
  • หลีกเลี่ยงการเดินขึ้น – ลงบันได ถ้าไม่จำเป็น
  • ควรใส่รองเท้าที่รองรับแรงกระแทกได้ดี
  • ลดน้ำหนักตัว เพื่อลดแรงกดบริเวณข้อเข่า
  • ใช้ไม้เท้าช่วยพยุง และลดแรงกดขณะเดิน

โรคข้อข่าเสื่อมนั้นเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้ การรักษาทำเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุดเท่านั้น ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจึงยังจำเป็นต้องหมั่นดูแลสุขภาพ ออกกำลัง ควบคุมน้ำหนักตัว และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ส่งผลต่อการทำงานของข้อเข่า ควบบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์ เพื่อเป็นการช่วยถนอมข้อเข่า รวมถึงยังช่วยป้องกันและชะลอการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้อีกด้วย

– – – – – – –
ช่องทางติดต่อทั้งหมด : https://rakmor.com/contact-us/
โทรติดต่อ : 062-696-8628
Line@ : @Rakmor
FB : https://www.facebook.com/Rakmormedical

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *