มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ โรคเก๊าท์ ” คืออะไร ? ความอันตรายที่เกิดจากอาการปวด อย่างรุนแรง

มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ โรคเก๊าท์ ” คืออะไร ความอันตรายที่เกิดจากอาการปวด อย่างรุนแรง

โรคเก๊าท์ คืออะไร

โรคยอดฮิตของคนไทยอีกหนึ่งโรคก็คือ โรคเก๊าท์ (Gout) คนเป็นโรคเก๊าท์มักจะมีอาการปวดบริเวณข้อต่อหรือเรียกว่าปวดเก๊าท์ ซึ่งทรมานมากๆ และไม่ใช่เรื่องตลกเลย โรคเก๊าท์เป็นโรคข้ออักเสบที่ทำให้มีอาการแสบร้อน บวม แดงตามข้อต่อ เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและตามมาด้วยอาการปวดที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ สามารถเกิดขึ้นในข้อต่อเดียวหรือหลายข้อต่อพร้อมกันได้ ในบทความนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคเก๊าท์ให้มากขึ้น เพื่อให้รู้ทันโรคนี้ รวมถึงวิธีการรักษาถูกต้องทำอย่างไร

โรคเก๊าท์ เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง ?

โรคเก๊าท์เกิดขึ้นจากภาวะกรดยูริก (uric acid) เป็นผลมาจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง เมื่อร่างกายเกิดการสะสมกรดยูริกในปริมาณที่มากเกินความพอดีจะส่งผลให้เกิดการตกผลึกตามข้อต่างๆ จนเกิดเป็นอาการปวดบวมตามข้ออย่างรุนแรง และมีอาการอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม โรคเก๊าท์อาจยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่พบว่ามีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น  การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ทานอาหารที่มีสารพิวรีนมากเกินไป จำพวกสัตว์ปีก ไก่ เครื่องในสัตว์กะปิ กุ้งเคย ได้รับวิตามินไม่เพียงพอ ดื่มน้ำอัดลมปริมาณมากเกินไป ฯลฯ

โรคเก๊าท์เกิดขึ้นจากภาวะกรดยูริก (uric acid

ทำความรู้จัก กรดยูริก คืออะไร หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์

กรดยูริก คือ สารเคมีชนิดหนึ่งในเลือดที่ได้มาจากการย่อยสลายสารพิวรีน กรดยูริกเป็นเหมือนของเสียในร่างกาย ร่างกายของคนเราแต่ละคนจะมีกรดยูริกประมาณร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 มักจะได้รับจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยธรรมชาติกลไกการทำงานของร่างกายจะปรับสมดุลของกรดยูริกได้ด้วยการกรองจากไต ก่อนขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ เมื่อมีกรดยูริกมากจากการสร้างของร่างกายและการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ตลอดจนการทำงานผิดปกติของไตในการกรองสารพิวรีน ท้ายที่สุดจะนำไปสู่ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง

โรคเก๊าท์ แบ่งออกเป็นทั้งหมดกี่ระยะ

โรคเก๊าท์แบ่งออกเป็น 4 ระยะได้แก่

1.ระยะที่ไม่มีอาการ แต่มีการตรวจพบกรดยูริกในเลือดสูง หากเป็นเพศชายจะเริ่มมีกรดยูริกสูงตั้งแต่อายุ 14-15 ปี ในขณะที่เพศหญิงจะเริ่มมีกรดยูริกสูงหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว

2.ระยะข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน จะเริ่มมีอาการปวดและบวมที่ข้อเท้าหรือหัวแม่เท้า หากมีอาการปวดรุนแรงจะส่งผลให้การเดินลำบาก แต่หากได้รับการรักษาอาการจะหายสนิทได้ภายใน 1-3 วัน แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาการจะหายไปเองภายใน 4-6 วัน

3.ระยะเป็นๆ หายๆ อาการข้ออักเสบจะกำเริบเป็นซ้ำในบริเวณจุดเดิมและจะเป็นๆ หายๆ เริ่มแรกอาจกำเริบปีละ 1-2 ครั้งต่อมาเริ่มเป็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ ปีละ 4-5 ครั้ง จุดที่เกิดภาวะข้ออักเสบจะเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เช่น ข้อเท้าจาก 1 ข้างเป็น 2 ข้าง ข้อเข่าทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น นอกจากนั้นช่วงเวลาที่ข้ออักเสบจะยาวนานขึ้นด้วย

4.ระยะข้ออักเสบเรื้อรัง พบว่ามีอาการอักเสบของข้อหลายข้อ เป็นตลอดเวลา ไม่มีช่วงเว้นว่าง ระยะนี้มักจะมีปุ่มก้อนขึ้นตามข้อต่างๆ ที่มีการอักเสบ เช่น ที่ตาตุ่มของเท้า ข้อศอก เข่า ข้อมือ หัวแม่เท้า เป็นต้น ปุ่มเหล่านี้คือก้อนผลึกยูเรตที่เกิดจากการสะสม บางครั้งจะแตกเป็นสารขาวคล้ายกับยาสีฟันไหลออกมา หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะมีข้อพิการแบบผิดรูปปวดและทุกข์ทรมานมาก อาจมีโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ไตวาย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ : มาทำความรู้จัก โรคข้อเข่าเสื่อม ภัยเงียบในวัยชรา รีบรักษาก่อนจะสายเกินไป

โรคเก๊าท์เทียม มีลักษณะเป็นอย่างไร?

คุณอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคเก๊าท์เทียม ซึ่งโรคเก๊าท์เทียมเป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เกิดจากการสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟต ไดฮัยเดรท การสะสมของผลึกนี้จะทำให้ข้อเสื่อมสภาพเร็วขึ้น บางครั้งอาจทำให้เกิดการอักเสบแบบเฉียบพลัน โรคเก๊าท์เทียมมีอาการคล้ายโรคเก๊าท์ จึงถูกเรียกว่าโรคเก๊าท์เทียม แต่ผลึกตัวการที่ทำให้เกิดการอักเสบของข้อเป็นคนละชนิดกัน โรคเก๊าท์เกิดจากการที่ร่างกายสะสมผลึกยูเรตหรือกรดยูริก ในขณะที่โรคเก๊าท์เทียมเกิดจากการสะสมของแคลเซียมไพโรฟอสเฟตได ฮัยเดรทนั่นเอง

ผู้ป่วยโรคเก๊าท์มักจะมีอาการปวด บวมแดง และร้อนบริเวณข้อแบบฉับพลันทันทีทันใด

อาการโรคเก๊าท์ เป็นแบบไหน ?

ผู้ป่วยโรคเก๊าท์มักจะมีอาการปวด บวมแดง และร้อนบริเวณข้อแบบฉับพลันทันทีทันใด โรคเก๊าท์มักเกิดจากข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า นอกจากนั้นก็ยังสามารถเกิดขึ้นกับข้ออื่นๆ ได้เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อมือ เป็นต้น ซึ่งอาการจะเป็นๆ หายๆ ในระยะแรกโรคเก๊าท์ หากไม่ได้รับการรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง อาการอักเสบจะรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานและอาจกลายเป็นโรคข้ออักเสบแบบเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคไต โรคไตวาย นิ่วในทางเดินปัสสาวะเป็นต้น

โรคเก๊าท์ สามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม

ปวดเก๊าท์กี่วันหาย โรคเก๊าท์ สามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม? โรคเก๊าท์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินยาและควบคุมระดับกรดยูริกไม่ให้สูง แต่ผู้ป่วยจะต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปีเป็นอย่างน้อยและต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร แต่ถ้าหายขาดแล้วยังมีพฤติกรรมรับประทานอาหารเหมือนเดิมก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก

วิธีการรักษาโรคเก๊าท์ ต้องทำอย่างไร มีแบบไหนบ้าง

โรคเก๊าท์สามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ช่วยให้อาการของโรคทุเลาลงได้ โดยทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ดื่มน้ำให้มากๆ ช่วยให้ร่างกายขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่หวานมาก
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล สารสกัดจากยีสต์ ถั่วบางชนิด เป็นต้น อาจทดแทนด้วยโปรตีนที่ได้จากผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วนควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

สำหรับการดูแลเพื่อลดอาการปวดของโรคเก๊าท์ ในเบื้องต้น ควรหยุดการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมหนัก หยุดการเคลื่อนไหวบริเวณที่มีอาการปวดอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังมีอาการ พยายามยกบริเวณข้อต่อที่ปวดให้สูง หากมีอาการบวมแดงสามารถบรรเทาด้วยการประคบน้ำแข็งหรือรับประทานยาในกลุ่มยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาต้านการอักเสบ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพริน สำหรับการผ่าตัดมักใช้กรณีที่อาการของโรครุนแรงขึ้น กลายเป็นปุ่มนูนหรือก้อนโทฟี่ เนื่องจากการสะสมของผลึกยูเรตตามเนื้อเยื่อและบริเวณข้อต่างๆ และการรักษาด้วยยาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ถ้าเกิดอาการปวดโรคเก๊าท์เฉียบพลัน ควรทำอย่างไร

ถ้าเกิดอาการปวดโรคเก๊าท์เฉียบพลัน ควรไปพบแพทย์ทันที การรักษาโรคเก๊าท์แบบเฉียบพลันจะต้องรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำและจะต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะเป็นการรักษาอาการอักเสบแบบเฉียบพลันได้แล้วยังเป็นการป้องกันการกลับมาสะสมใหม่ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคด้วย รวมถึงการเกิดปุ่มหรือก้อนผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อทำให้ดูไม่สวยงาม

โรคเก๊าท์ เป็นกรรมพันธุ์ใช่หรือไม่ ?

โรคเก๊าท์ เป็นกรรมพันธุ์ใช่หรือไม่ ?

สาเหตุของโรคเก๊าท์เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุหนึ่งในนั้นคือการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องทางสายเลือดเคยเป็นโรคเก๊าท์มาก่อน ก็มีโอกาสที่คุณจะเป็นโรคเก๊าท์ได้ โรคเก๊าท์มักเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุประมาณ 40-50 ปีผู้ชายมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้หญิง สำหรับผู้หญิงอาจพบได้วัยหลังหมดประจำเดือน

 

จากข้อมูลทั้งหมดที่เราได้นำเสนอ หวังว่าคุณคงเข้าใจเกี่ยวกับโรคเก๊าท์มากขึ้น โรคเก๊าท์ ไม่เรื่องตลกเลย โรคที่ใครๆ ก็มีโอกาสเป็นได้ แต่หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีก็มีโอกาสหายขาดได้เช่นเดียวกัน   

– – – – – – –
ช่องทางติดต่อทั้งหมด : https://rakmor.com/contact-us/
โทรติดต่อ : 062-696-8628
Line@ : @Rakmor
FB : https://www.facebook.com/Rakmormedical

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *